มหากาพย์ “เขากระโดง”เปิดประเด็นกับสหภาพรถไฟฯ


     🔻ถ้าจะกล่าวถึงกรณีข้อพิพาท เรื่องที่ดินอีกหนึ่ง “คดีมหากาพย์” คงต้องมีชื่อพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นรายชื่อแรก ๆ และอีกประการที่ทำให้พื้นที่เขากระโดงน่าสนใจเป็นพิเศษ ก็คงเพราะเป็นคดีใหญ่คดีแรก ๆ ที่หน่วยงานของรัฐโดยการรถไฟฯ ที่เป็นฝ่ายชนะแบบปิดทุกประตู
       ⛔ สิทธิ์ของการรถไฟที่ได้มาโดยชอบ
        🔻แต่กว่ากระบวนการจะดำเนินมาถึงปัจจุบันที่ทางคณะทำงานของการรถไฟฯและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯได้ลงสำรวจพื้นที่ดำเนินการจัดทำรังวัดที่ดิน และกำหนดแนวเขตที่ดินของ รฟท. ในบริเวณเขากระโดง ก็กินเวลากว่า 73 ปี ตั้งแต่เริ่มถือครองกรรมสิทธิ์ตามประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง พ.ศ 2462
           🔻ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 เพื่อจัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้น และตามที่มีการบัญญัติในมาตรา 10 ให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของกรมรถไฟให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย และนี่จึงถือเป็นการครอบครองสิทธิ์ที่ดินในนามของการรถไฟแห่งประเทศไทย
      ⛔ จากการบุกรุกที่ลามมาสู่การยึดครองโดยอิทธิพลนักการเมือง
          🔻13 พฤศจิกายน 2513 ได้มีการประชุมร่วมระหว่างการรถไฟฯ กับผู้บุกรุก โดยผู้บุกรุกรับว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ และทางผู้บุกรุกได้ขออาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทจากการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯได้ยินยอมให้อาศัยตามคำร้องขอของผู้บุกรุก
       ⛔ และแล้ววันที่ความโลภเข้าบังตาก็มาถึง
      🔻26 ตุลาคม 2515 ผู้บุกรุกรายเดิมที่ร้องขออาศัยในเขตที่ดินพิพาทได้นำที่ดินไปออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟเป็นโฉนดเครือญาติและธุรกิจของตนเอง
         🔻จากเหตุการณ์นั้น การรถไฟฯ ได้มีการพยายามยื่นขอพิสูจน์กรรมสิทธิ์ถึง 24 ปี จนต้องส่งเรื่องปัญหาพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับราษฎร ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน
      🔻 หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งความเห็นกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ นั้น เข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
       🔻 การรถไฟฯ จึงได้ส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนที่ดินจากการครอบครองของผู้บุกรุกที่ถือครองโฉนดในขณะนั้น ทางกรมที่ดินได้ตั้งกรรมการสอบสวนและพิจารณาแย้งกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดฉบับดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความพยายามที่จะไม่ปฏิบัติตามความเห็นของกฤษฎีกา ยื้อเวลามาถึง 13 ปี
     ⛔ สหภาพปักธงไม่ทนต้องทวงที่ดินคืนเท่านั้น
      🔻หากจะเปิดประเด็นถึงเรื่องการทวงคืนที่ดินเขากระโดง จากอิทธิพลนักการเมือง ก็คงต้องย้อนไปปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเริ่มจากการขับเคลื่อนของสหภาพแรงงานรถไฟฯ ในสมัยของนายสาวิทย์ แก้วหวาน อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ในขณะนั้น ได้มีมติในการเร่งผลักดันการดำเนินการเรื่องเขากระโดงอย่างเร่ง ด่วน จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมต้องจับตามอง ซึ่งสื่อหลายสำนักได้เขียนพาดหัวข่าว ว่า “สาวิทย์” ฉะตระกูล “นักการเมืองดัง” โกงที่ดินเขากระโดง – สหภาพรถไฟฯ ขีดเส้นตายรัฐบาลยื่น 9 ข้อเรียกร้อง กล่าวระหว่างการประชุมที่ สหภาพรถไฟฯ สาขา หาดใหญ่
      🔻ซึ่งนับเป็นระยะเวลากว่า 13 ปี ของการต่อสู้ กดดัน เร่งรัด จากสหภาพรถไฟฯ ที่ต้องต่อสู้กับอิทธิพลการเมือง ผ่านสมองและสองมือ ซึ่งยึดหลักตามเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเพื่อรักษาสิทธิ์ของรัฐวิสาหกิจได้พยายามทำมาโดยตลอด จนเมื่อปี พ.ศ. 2564 สหภาพรถไฟฯ ได้เข้าพบ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.กระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อสอบถามการดำเนินการเพิกถอนที่ดินรถไฟ โดยความสำคัญที่ได้กล่าวยืนยันในเจตนารมณ์ของสหภาพฯ ว่าเราไม่ได้เจาะจงที่ดินเขากระโดงเพียงอย่างเดียวแต่ทำทั่วประเทศ เพียงแต่ว่าที่เขากระโดงมีข้อพิพาทมาอย่างยาวนานมาก และที่สำคัญคือมีนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญกับประเทศไทยเข้าไปอยู่นั่นคือปมปัญหา นายสาวิทย์ กล่าวให้ความเห็นระหว่างการเข้าพบ รมว.มท.
    🔻หลังจากที่ มีการเปิดโปงแสดงหลักฐาน รวมถึงความเห็นจากนักวิชาการ นักกฎหมายหรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระ ก็ยังมีอุปสรรคในการดำเนินการทำให้ระยะเวลายึดเยื้อ จนผู้หน้าที่เกี่ยวข้องถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็นการประวิงเวลา เอื้อประโยชน์ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่?
      ⛔ ในที่สุดก็ถึงวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
      🔻24 กันยายน 2558 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาในคดีที่ราษฎร ฟ้องการรถไฟฯและกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนด ซึ่งศาลพิพากษาว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้โจทก์ทั้ง 35 ราย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้การรถไฟฯ ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯเป็นรายเดือนจนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไป
       🔻22 เมษายน 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีการรถไฟฯฟ้องราษฎร 4 รายกระทำละเมิดต่อการรถไฟฯได้รับความเสียหายไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้ โดยศาลพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การรถไฟเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้จำเลยที่ 2เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน
      ⛔ ประธานสหภาพคนใหม่รับไม้ต่อ พร้อมยึดหลักเจตนาเดิม
      🔻การเข้ามาเป็นประธานสหภาพรถไฟฯ ของนายสราวุธ สราญวงศ์ ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม จากที่เคยทำงานด้านข้อมูลส่งต่อให้ประธาน วันนี้ได้ขึ้นมายืนคุมบังเหียนในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อน
      ⛔ กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ได้ง่าย
       🔻5 สิงหาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ลงวันที่ 1 ส.ค.2567 เรื่อง การรังวัดตรวจสอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณแยกเขากระโดง ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ แจ้งว่าได้ทำการรังวัดที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมแนบรายละเอียดรูปแผนที่ (ร.ว.9) บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งระบุรายละเอียดแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯบริเวณแยกเขากระโดงทั้งหมด โดยเฉพาะในบริเวณเส้นขอบเขตของที่ดินของการรถไฟฯ มีการระบุถึงเลขแปลงโฉนดที่ดิน และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 และ น.ส. 3 ก ที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ 
 ⛔ กรณีที่ดินเขากระโดง ถือเป็นการต่อสู้ที่สหภาพแรงงานได้ทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งและตลอดระยะที่สหภาพแรงงานออกมาเคลื่อนไหว เรายึดมั่นในเจตนารมณ์คือเพื่อรักษากรรมสิทธิ์และผลประโยชน์ของการรถไฟฯ เมื่อความขัดแยงสิ้นสุดแนวทางต่อไปที่การรถไฟฯต้องเร่งทำคือการพูดคุยสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความเท่าเทียมอย่างมีศักดิ์ศรี โดยที่สหภาพแรงงานจะยังคงพร้อมสนับสนุนและดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาติและประชาชนตลอดไป
                                                                                                                                    ด้วยจิตคารวะ
                                                                                              สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *