1 พฤษภาคม 2568 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย นำโดย นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สร.รฟท.เข้าร่วมงานวันกรรมกรสากล จัดโดย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ( สรส.) ร่วมกับ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย ( สสรท. ) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการจัดงาน มีองค์กรสมาชิกเข้าร่วมงานอย่างคับคั้ง ภายใต้คำขวัญ “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน ขบวนเดินรณรงค์เริ่มจาก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล (ประตู 5 ) บรรยากาศในปีนี้ตอนเช้าตรูมีฝนตก ท้องฟ้าครึม แต่ขณะทำกิจกรรมไม่มีฝน แต่อากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับกรรมกรผู้เข้าร่วมงานกิจกรรมในงานมีการขึ้นเวทีปราศรัยของผู้นำแรงงานแต่ละองค์กรเพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆของกรรมกรที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลภายใต้ระบบทุนนิยม ตลอดถึงการปราศรัยให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานและประชาชนที่สัญจรไปมาให้ทราบถึงความเป็นมาของวันกรรมกรสากล มีการแสดงการล้อเลียนเสียดสีการเมืองปีนี้กรรมกรแสดงจุดยืน “ไม่เอากาสิโน” โดยที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) อันมีกาสิโนเป็นส่วนประกอบหลักเข้าสู่รัฐสภา การมีกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเปิดกาสิโนหรือแหล่งพนันอย่างเข้ม ที่เล่นพนันได้มาก หมกมุ่นเป็นเวลานาน และเสียทรัพย์จำนวนมากเป็นการกฎหมายนี้จะเปิดช่องให้เปิดกาสิโนได้หลายแห่ง หลายขนาด ในหลายพื้นที่ ไม่มีขีดจำกัด ประสบการณ์ของทั่วโลก กาสิโนเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับอาชญากรรมหลายระดับ ทั้งการโจรกรรมข้ามชาติ อาชญากรรมระดับประเทศ และการกระทำผิดกฎหมายในสังคม ทั้งการฉ้อโกง การทุจริตคอร์รับชันการรับสินบน และการประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย การเปิดให้มีกาสิโนถูกกฎหมายเท่ากับการอนุญาตให้เปิดโรงฟอกเงินแก่กลุ่มอาชญากรรมและผู้กระทำผิด ให้สามารถเปลี่ยนเงินสกปรกให้กลายเป็นเงินสะอาดได้ อันมีส่วนในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจการเงินการธนาคารของประเทศได้และช่วงท้ายกิจกรรมได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาลโดยมีผู้แทนรัฐบาลมารับข้อเรียกร้อง
ประวัติวันกรรมกรสากล
นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคแรก ค.ศ.1760 (พ.ศ.2303) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการผลิต การทำงาน และวิถีชีวิตของคนงานครั้งยิ่งใหญ่ ในขณะที่คนงานต้องประสบกับการกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในเรื่องค่าจ้างที่ต่ำ สภาพการทำงานที่เลวร้าย ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงจนคนงานไม่สามารถทนอยู่สภาพที่เลวร้ายนั้นได้ คนงานทั้งโลกได้สำแดงพลังครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 (พ.ศ.2429) เพื่อเรียกร้องให้ได้มา “ระบบสามแปด” คือ “ทำงานแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง ศึกษาหาความรู้แปดชั่วโมง” การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้นในประเทศต่าง ๆ เกิดการเดินขบวน ชุมนุมประท้วง และนัดหยุดงานลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งโลก การต่อสู้ของกรรมกรล่วงเลยถึงปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) จึงประสบชัยชนะ แต่กรรมกรต้องสังเวยชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ต่อมาในคราวการประชุมสมัชชาสังคมนิยมสากลที่สองมีมติกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันกรรมกรสากล” โดยเริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) เป็นต้นมา
ต่อมาภายหลังสหประชาชาตินำเอาผลจากการต่อสู้ของกรรมกรสากลมาบัญญัติไว้ใน “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” รวมทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศก็ได้บัญญัติหลักประกันของระบบ “สามแปด” รวมทั้งสิทธิ เสรีภาพด้านต่าง ๆ และในทุก ๆ ปีกรรมกรทั่วทั้งโลกต่างออกมาชุมนุม เดินขบวน เฉลิมฉลอง พร้อมกับยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศรณรงค์สะท้อนปัญหาของคนงานให้สังคมได้รับรู้ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมที่กล้าหาญ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละของกรรมกรในยุคนั้น ประเทศไทยกรรมกรก็ได้กระทำเช่นเดียวกับกรรมกรทั่วทั้งโลก แต่ชนชั้นปกครองของรัฐไทยหวาดกลัวต่อพลังของกรรมกร “วันกรรมกรสากล”ถูกชนชั้นปกครองตัดตอนประวัติศาสตร์ความเชื่อมโยงกับสากล โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ความเชื่อมโยงกับสากล ทำให้ความแหลมคม จุดยืน อุดมการณ์ของกรรมกรเลือนหายไปเพราะการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติถูกชี้นำกำกับโดยรัฐบาลด้วยการสนับสนุนงบประมาณไม่ยืนอยู่บนหลักการอิสระ พึ่งตนเอง ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลงเป็นลำดับ “ด้วยการแบ่งแยก ตีให้แตก แยกทำลาย” แต่ที่สุดแล้วก็ไม่อาจทำลายความเป็นพี่น้อง ความเป็นมิตรสหายของกรรมกรได้ เพราะยังมีกรรมกรส่วนที่ก้าวหน้า ยังมีความเชื่อมั่นว่า “กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน” กรรมกรต้องเชื่อมั่นในพลังของตนเองไม่ยอมตกเป็นทาสของนายทุนและชนชั้นปกครอง หากเราแบ่งแยก แตกความสามัคคี อ่อนแอ ตกเป็นเครื่องมือของนายทุนและชนชั้นปกครองเมื่อใดแล้ว ความหวังว่าจะมีอนาคตและชีวิตที่ดีนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยวันกรรมกรสากลใน ปี 2025 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยังคงจัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ “วันกรรมกรสากล” ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้นเช่นทุกปี
“ขอกรรมกรจงสามัคคีกัน ต่อสู้ปลดปล่อยตนเอง มุ่งมั่นสู่ชัยชนะและสังคมที่เราคาดหวัง”
ดาวน์โหลดข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐบาล MAYDAY 2025 ได้ที่นี่