วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 สหภาพรถไฟ ฯ นำโดยนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพฯพร้อมกับคณะกรรมการและที่ปรึกษาสหภาพฯนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เข้าพบ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ณ ที่ทำการกระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ สหภาพฯได้ยื่นหนังสือขอให้เร่งรัดผลักดันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพนักงานการรถไฟฯ ซึ่งรัฐมนตรีฯมอบหมายให้นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงฯเป็นผู้แทนในการรับหนังสือ ของสหภาพฯ การรถไฟฯ ประสบปัญหาวิกฤตขาดแคลนอัตราพนักงานด้านปฏิบัติการ และการขาดแคลนรถจักร รถพ่วง (รถโดยสาร-รถสินค้า) ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามภารกิจที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกิจการรถไฟ และตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด รวมถึงความปลอดภัยในการเดินรถเพื่อให้บริการกับประชาชน ซึ่งการรถไฟฯได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือปฏิบัติตามมาตรการ ข้อสังเกต และตามความเห็นกระทรวงการคลัง ความเห็นตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจโดยเคร่งครัด ซึ่งมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ให้มีอัตรากำลังภายในกรอบที่กำหนด โดยภายในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ จะมีพนักงานไม่เกิน ๑๘,๐๑๕ คน และลูกจ้างไม่เกิน ๔,๐๔๖ คน และงดรับพนักงานใหม่ ยกเว้นตำแหน่งเกี่ยวกับการเดินรถและตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว ทั้งนี้จะรับพนักงานได้ไม่เกินร้อยละ ๕ ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุ ส่งผลให้ ณ วันที่ ๑ เมษายน 2568 มีพนักงาน 8,653 คน และจะมีพนักงานที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2568 จำนวน 295 คนเป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนอัตรากำลัง อย่างหนัก สหภาพฯได้ขอให้รัฐมนตรีว่าการ คมนาคม ทบทวนมติ ครม 28 ก.ค. 41 และเห็นชอบเร่งรัดผลักดันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพนักงานการรถไฟฯเพื่อดำเนินงานตามภารกิจที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกิจการรถไฟ และตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด รวมถึงความปลอดภัยในการเดินรถเพื่อให้บริการกับประชาชนโดยเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นขอบต่อไป
ดาวน์โหลดหนังสือยื่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม…..ได้ที่นี้