แถลงการณ์
เรื่อง ที่ดินเขากระโดง ๕,๐๘๓ ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ตามพระบรมราชโองการ
“กรมที่ดิน” ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายและเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกา
ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 พิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลปกครองระบุว่า “กรมที่ดิน มีภารกิจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลที่ดินของรัฐทุกประเภท และ อธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของกรมที่ดินให้สำเร็จลุล่วงที่กำหนดไว้ เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒ – ๘๗๖ /๒๕๖๐ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๐๒๗ /๒๕๖๑ และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ คดีหมายเลขดำที่ ๑๑๑/๒๕๖๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๑๒ / ๒๕๖๓ ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟฯ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ” โดยให้อธิบดีกรมที่ดิน ปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ …. จากคำพิพากษาของศาลปกครองได้วินิจฉัยอย่างชัดเจน ให้กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดินไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายในการหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งสังคมสาธารณะเฝ้าติดตามอย่างมีความหวังถึงการได้คืนที่ดินทรัพย์สินของชาติกลับมาเพื่อประโยชน์ของประชาชน
แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม เมื่ออธิบดีกรมที่ดินได้มีหนังสือถึงการรถไฟฯ แจ้งเรื่องการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ โดยคณะกรรมการสอบสวนฯมีความเห็นว่า ยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฎชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่ามีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือมิชอบโดยกฎหมาย โดยคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ยืนยันยังไม่สมควรเพิกถอน หรือแก้ไขเอกสารสิทธิในที่ดินจนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ และอธิบดีกรมที่ดินได้มีความเห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการ สอบสวนฯ และเห็นควรยุติเรื่อง
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ซึ่งมีหน้าที่รักษาปกป้องผลประโยชน์ของการรถไฟฯ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวงพระพุทธศักราช ๒๔๖๔ มาตรา ๖ (๒) ห้ามมิให้เอกชนหรือบริษัทใดๆหวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์สินนั้นๆได้ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้วว่าที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินไว้ …..เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมสาธารณะจึงมีคำถามพุ่งตรงไปถึงผู้มีอำนาจที่กำกับดูแลกรมที่ดิน…….จากความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ และคำวินิจฉัยอธิบดีกรมที่ดินนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ เหตุใดจึงมีความเห็นที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลยุติธรรม หรือว่ามีอำนาจทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมาย ที่จ้องเขมือบฮุปที่ดินของการรถไฟฯ เอาไปเอื้อประโยชน์ให้บรรดานายทุน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากที่กำลังจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งมีกำหนดบทบัญญัติเจตนาแอบแฝงเพื่อจะนำเอาที่ดินที่ของการรถไฟฯไปประเคนให้นายทุนเอกชนแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สมบัติของชาติ
จากปมประเด็นปัญหานี้ สหภาพภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ขอยืนยันเจตนารมณ์และจุดยืนที่ชัดเจน ที่จะทำหน้าที่ต่อสู้ให้ถึงที่สุด ทุกรูปแบบร่วมกับสมาชิก และพี่น้องคนรถไฟ ในการติดตามดำเนินการจนกว่าจะได้กรรมสิทธิที่ดินบริเวณเขากระโดง กลับมาเป็นของการรถไฟฯให้เป็นตามพระราชปณิธานของล้นเกล้าพระปิยมหาราช เพื่อนำไปดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน สืบต่อไป
ด้วยจิตคารวะ และร่วมกันปกป้องรักษาทรัพย์สินของแผ่นดิน
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)
๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
ดาวน์โหลดแถลงการณ์เรื่อง ที่ดินเขากระโดง ๕,๐๘๓ ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ตามพระบรมราชโองการ
“กรมที่ดิน” ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายและเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ได้ที่นี่!!!