วันที่ 7 มิถุนายน 2565  คณะกรรมการบริหารสหภาพฯ ลงพื้นที่โรงรถดีเซลรางกรุงเทพ เพื่อชี้แจงสมาชิกเกี่ยวกับ”ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ” มีผลกระทบกับองค์กรการรถไฟฯและพนักงานอย่างไร? ซึ่งมีสมาชิกสนใจเข้ารับฟัง และสอบถามข้อสงสัยต่างๆ  การชี้แจงของสหภาพได้เดินสายไปตามจุดต่างๆทั่วประเทศทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยก่อนหน้านี้เมือวันที่9 มีนาคม 2565 สหภาพฯ”ได้ออกหนังสือที่ สร.รฟท. 238/2565 ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  เรื่องขอให้ยับยั้งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. รายละเอียดหนังสือได้กล่าวถึงตามที่กระทรวงคมนาคม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …โดยมีหลักการและเหตุผล “เพื่อให้มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมกำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง ให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง การบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยจะมีการนำเสนอต่อ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปนั้น ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือไปให้หน่วยงานต่างๆ เช่นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นต้น เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ โดยหน่วยงานนั้นๆ ได้เสนอความเห็นกลับมาซึ่งมีข้อสังเกตและให้ความเห็นให้มีการทบทวนเนื้อหา มิให้มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่นๆที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เช่นบรรดาสิทธิ อำนาจหน้าที่ของกรมการขนส่งทางราง ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับ หน่วยงานรัฐอื่นๆ ในการร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนเพื่อให้มีหน่วยงานที่มีฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลนโยบายเกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบกิจการขนส่งทางราง มาตรฐานทางด้านความปลอดภัย มาตรฐานการให้บริการ และการกำหนดอัตราค่าบริการ เพื่อควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและการบริหารจัดการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ แต่มีการกำหนดให้อำนาจหน้าที่กรมการขนส่งทางราง มากเกินกว่าหน่วยงานกำกับดูแล ( Regulator ) และอาจมีผลให้กรมการขนส่งทางรางเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการขนส่งทางรางนั้นเอง จึงควรมีการพิจารณาทบทวนในรายละเอียดที่ชัดเจนและคำนึงถึงการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่และอำนาจ ให้กรมการขนส่งทางรางใช้ในการกำกับดูแล ในกิจการขนส่งทางรางให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายอื่น ประการต่อมาเมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ที่ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เห็นว่าในเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อหน่วยงานต่างๆของรัฐหลายภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งในเรื่องของการตรากฎหมายและหลักการมีส่วนร่วมนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 77 บัญญัติว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง ไป…..” โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) อย่างทั่วถึงและรอบด้านตามกระบวนการของกฎหมาย อีกทั้งยังมีความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานต่างๆที่เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสังคมและประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการหลักการมีส่วนร่วม ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด การที่กระทรวงคมนาคมมีเจตนามุ่งหมายที่จะออกกฎหมายเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยงานกำกับดูแล( Regulator ) เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องมาตรฐานด้านต่างๆและการสร้างมาตรฐานให้เป็นสากลแก่ระบบขนส่งทางราง

                  แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลับมีบทบัญญัติที่มีความซ้ำซ้อน ขัดแย้งกับบรรดาสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการจัดวางการรถไฟแลทางหลวงพระพุทธศักราช ๒๔๖๔ กับ พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยในร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางรางฯ กำหนดให้“ให้บรรดาอำนาจ สิทธิและประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติ ฉบับนี้.”เท่ากับว่าร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางรางฯที่ออกมา ซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่การรถไฟฯถือใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการจำกัด อำนาจ และสิทธิของการรถไฟฯ ดังนั้นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓ มีวัตถุประสงค์เป็นไปตามมาตรา ๔๐ (๔) “ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจซึ่ง” เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแล และพัฒนามาตรฐานด้านระบบการขนส่งทางราง เนื่องจากเป็นระบบการขนส่งที่มีความสำคัญในอนาคต แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. … แล้ว กลับมีเนื้อหาที่มีความซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลของการร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งกระบวนการในการตรากฎหมายไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างเคร่งครัด

          สร.รฟท. จึงขอแสดงจุดยืนใน การคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. และขอให้นายกรัฐมนตรียับยั้งกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือยื่นนายกฯ……คลิกที่นี้

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *