วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ( สร.รฟท. ) นำโดย นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สร.รฟท. และ คณะกรรมการบริหาร สร.รฟท. เข้าพบ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ที่ อาคาร ณ ถลาง ชั้นที่  5 เลขที่ 514/1 ถ. หลานหลวง แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร  เพื่อขอทราบรายงานผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบ ในการจัดทำร่าง พระราชบัญญัติการขนส่งทางราง  พ.ศ. ….โดยมีนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นผู้แทนอธิบดีกรมการขนส่งทางรางมาเป็นตัวแทนในการรับหนังสือและร่วมหารือกับผู้แทน สร.รฟท.

         

                          สืบเนื่องจาก กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย ในระหว่างวันที่    ๑๒ – ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ สำหรับนำไปประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบและการจัดทำร่างกฎหมายก่อนที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป นั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ วรรคสอง กำหนดให้ “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ……”  นอกจากนี้ พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.๒๕๖๒ ได้บัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ “มาตรา ๕ วรรคสาม… ก่อนการ            ตรากฎหมายทุกฉบับ หน่วยงานของรัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นแก่ประชาชน และนำผลนั้นมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการ ตรากฎหมายทุกขั้นตอน มาตรา ๑๖ เมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐนำผลการรับฟังความคิดเห็น ไปประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบและการจัดทำร่างกฎหมาย และให้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็น และสรุปความเห็นในแต่ละประเด็นของฝ่ายต่าง ๆ ให้ครบถ้วน รวมทั้งการปรับปรุงหรือไม่ปรับปรุงหลักการหรือประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายตามความเห็น ดังกล่าวพร้อมเหตุผล มาตรา ๑๗ ในการวิเคราะห์ผลกระทบ หน่วยงานของรัฐต้องกระทำอย่างรอบด้านและเป็นระบบ โดยให้นำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาและจัดทำเป็นรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบ มาตรา ๑๘ ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา ๑๖ และ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบตามมาตรา ๑๗ ผ่านระบบกลาง และจะใช้วิธีการอื่นใดด้วยก็ได้”

                     เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ซึ่งเป็นองค์กรนิติบุคคลจัดตั้งตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓ มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งตามมาตรา ๔๐ (๔) ให้ความร่วมมือในการสร้างประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ได้มีหนังสือที่ สร.รฟท.๑๖๘/๒๕๖๗ เรื่อง เสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….      โดย สร.รฟท.ได้เสนอความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เกี่ยวกับหลักการและเหตุผลในภารกิจการกำกับดูแล (Regulator) และสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่มีผลกระทบเกิดขึ้นโดยตรงต่อภารกิจ หน้าที่ในการดำเนินการระบบขนส่งทางรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๔๙๔ รวมถึงบรรดา อำนาจ และสิทธิของการรถไฟฯ ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ซึ่ง สร.รฟท.เห็นว่า ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กรมการขนส่งทางรางควรมีภารกิจหลักในเรื่องของการทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) กิจการขนส่งทางรางในด้านมาตรฐาน และระเบียบทางด้านความปลอดภัย การบำรุงทาง การประกอบกิจการขนส่งทางราง และการกำหนดมาตรฐานการดูแลคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการขนส่งทางราง เท่านั้น  เพื่อให้กระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๕ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จึงขอให้กรมการขนส่งทางรางเปิดเผยรายงานผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบ แก่ประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทั้งหมดได้รับทราบ ก่อนที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป 

               สรุปประเด็นหารือมีดังนี้

               หลังจากที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ….ผู้เกี่ยวข้องยังไม่ได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 77 และ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการเผยแพร่การวิเคราะห์ผลกระทบในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง โดยรองอธิบดีกรมการขนส่งทางรางให้ข้อมูลว่าได้มีการเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นแล้วผ่านเว็บไซด์ระบบกลางทางกฎหมาย แต่อาจจะยากต่อการค้นหาของบุคคลทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสีย โดย ประธาน สร.รฟท.เสนอให้กรมการขนส่งรางดำเนินการส่งข้อมูลด้านเอกสารหรือช่องทางเผยแพร่ข้อมูลผลการรับฟังความคิดเห็น ที่เป็นสาธารณะให้เข้าถึงได้ง่าย โดย สร.รฟท.ย้ำชัดเจนไม่ได้ขัดขวางในการออกร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ….หากเป็นไปตามหลักการและเหตุผลในการกำกับดูแลในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการประกอบกิจการขนส่งทางราง โดยไม่บัญญัติอำนาจในบทเฉพาะกาลในร่างกฎหมายดังกล่าว มายกเลิกอำนาจและสิทธิตามกฎหมายในการจัดตั้งกิจการของการรถไฟฯ ซึ่งในส่วนนี้ทางผู้แทนกรมการขนส่งทางรางได้รับข้อเสนอจาก สร.รฟท.เพื่อไปประกอบเป็นข้อมูลในการจัดทำร่างกฎหมาย และยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกหรือจำกัดสิทธิที่มีผลกระทบต่อพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 และ พระราชบัญญัติการจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 อย่างเด็ดขาด ซึ่งในขั้นตอนการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายจะประสานผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไปให้ข้อมูลในโอกาสต่อไป

   กดดาวน์โหลดหนังสือที่ สร.รฟท.433/2567 ลงวันที่ 13 พ.ค. 67 เรื่องขอทราบรายงานผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบ ในการจัดทำร่าง พระราชบัญญัติการขนส่งทางราง  พ.ศ. ....ได้ที่นี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *