วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย นำโดยนายสราวุธ  สราญวงศ์ได้ยื่นหนังสือถึงการรถไฟฯเรื่อง เสนอให้การรถไฟฯอุทธรณ์ต่อศาลปกครองโดยเร่งด่วน กรณีมติของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีคำวินิจฉัยไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งออกทับที่ดินของการรถไฟฯ โดยผู้วาการรถไฟมอบหมายให้นางสาวชุติมา  วงศืศิวะวิลาศ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน เป็นผู้แทนในการรุบหนังสือ ซึงรายละเอียดดังนี้

          ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 พิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน (ตามอ้างถึง ๑) ซึ่งกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ วรรคสอง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และเมื่อวันที่ 2๑ ตุลาคม 2567 อธิบดีกรมที่ดินมีหนังสือที่ มท.๐๕๑๖.๒(๒)/๒๒๑๖๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ ได้ส่งหนังสือแจ้งว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติ เอกฉันท์ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ (ตามอ้างถึง ๒) นั้น โดยมีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิของการรถไฟฯ ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ซึ่งมีหน้าที่ตามข้อบังคับของสหภาพฯ และวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๔๐ (๔) ให้ความร่วมมือในการสร้างประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ โดยที่ประชุมคณะกรรมการ สร.รฟท.ได้มีมติให้ดำเนินการติดตามกระบวนการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งออกทับที่ดินของการรถไฟฯเห็นว่าในกรณีดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒ – ๘๗๖ /๒๕๖๐ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๐๒๗ /๒๕๖๑ และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ คดีหมายเลขดำที่ ๑๑๑/๒๕๖๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๑๒ / ๒๕๖๓ ได้วินิจฉัย ไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ ๓๗๕ + ๖๕๐ เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิของการรถไฟฯ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ประกอบข้อเท็จจริงที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกา อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งการแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ข.) สำนักงานที่ดินบุรีรัมย์ได้ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวน พร้อมจำหน่าย ส.ค.๑ ออกจากทะเบียนครอบครองที่ดิน และยกเลิกการขอออกโฉนดที่ดินจำนวน ๔๐ ฉบับ รวมถึงจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ซึ่งที่ดินในกระบวนการดังกล่าวทั้งหมดเกิดขึ้นจากการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนที่ดินของการรถไฟฯ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการสอบสวนฯควรต้องนำไปพิจารณา จากมติคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนฯ ถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิของการรถไฟฯ ในเรื่องของกรรมสิทธิในที่ดินทับซ้อนที่ดินของการรถไฟฯบริเวณทางแยกเขากระโดง

              ดังนั้น สร.รฟท.จึงขอให้การรถไฟฯดำเนินการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองโดยเร่งด่วนที่สุด กรณีมติของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีคำวินิจฉัยไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินบริเวณเขากระโดงซึ่งออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปกป้องรักษาทรัพย์สินที่ดินของการรถไฟฯไว้ และสืบทอดพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนต่อไป

 

By admin