ดาวน์โหลดหนังสือ   ที่ สรส. 369/2567 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เรื่อง ขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ถึงนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ได้ที่นี่

              วันที่26 พฤศจิกายน 2567 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯนำโดยนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพฯพร้อมกับคณะกรรมการบริหาร/อนุกรรมการ/สมาชิกตลอดถึงครอบครัวคนรถไฟ เข้าร่วมกิจกรรม“ร่วมปกป้องรัฐวิสาหกิจเพิ่อชาติและประชาชน” จัดโดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) โดยมีองค์กรสมาชิกของ สรส ได้เสนอประเด็นปัญหาและขอเสนอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ

                       กิจกรรมเริ่มเวลา 08.30 น. สรส.นัดองค์กรสมาชิกรวมพลกันที่หน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ UN  แล้วเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนิน มุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ระหว่างนั้นได้เชิญผู้นำแรงงานแต่ละองค์กรขึ้นปราศรัยถึงประเด็นปัญหาและข้อเสนอของแต่ละองค์กร ขบวนได้มาหยุดและจัดริ้วขบวนกันที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ต่อมาผู้นายสมพาศ นิลพันธ์  ที่ปรึกษาด้านการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ สปน. และนายตรี อัญชลีสังกาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำด้านสังคม สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลที่เข้ารับหนังสือจาก สรส. ซึ่งมีนายมานพ  เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นตัวแทนในการยื่น หนังสือที่ สรส. 369/2567 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เรื่อง ขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ถึงนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) รายละเอียดดังนี้

           รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกของรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการจัดบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคของชาติและประชาชนซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 “พระปิยมหาราช” ได้ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยใช้งบประมาณและกลไกของรัฐในการจัดแจงแบ่งปัน กระจายความสุข ความเจริญให้แก่สังคมไทย โดยได้ทรงสถาปนารัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค สาธารณูปการหลายแห่งเพื่อมอบหมายภารกิจให้จัดทำบริการสาธารณะเพื่อประชาชน อาทิ กิจการรถไฟ ประปา ไปรษณีย์ โทรศัพท์ โรงพยาบาล สถานศึกษา ฯลฯ ล้วนมีส่วนต่อการพัฒนาของประเทศ เป็นพลังหลักในการใช้นโยบายของรัฐเพื่อความผาสุกของประชาชน ภารกิจของรัฐวิสาหกิจจึงเป็นการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประชาชนในลักษณะต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ผูกพันกับค่าครองชีพ ความเป็นอยู่ของประชาชน มีความใกล้ชิดกับประชาชนคนไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ทำให้พสกนิกรไทยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจกันเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งรัฐวิสาหกิจไทย” ปัจจุบันพบว่า รัฐวิสาหกิจมีทั้งหมด 52 แห่ง มีทรัพย์สินรวมประมาณ 18.4 ล้านล้านบาท มีรายได้นำส่งรัฐเพื่อเป็นงบประมาณแผ่นดิน ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 175,000 ล้านบาท มีพนักงานรัฐวิสาหกิจปี 2567 รวมประมาณทั้งสิ้น 214,860 คน ซึ่งรัฐวิสาหกิจกำลังถูกเปลี่ยนเจตนารมณ์เปลี่ยนพระราชปณิธานให้เป็นธุรกิจของรัฐเพื่อแสวงหากำไร การแข่งขัน กลไกการตลาดถูกนำมาใช้เพื่อสะท้อนการแข่งขันและประสิทธิภาพ รัฐวิสาหกิจในภาพรวมกำลังถูกลดบทบาทลง และมีความพยายามเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนจากแนวนโยบายแห่งรัฐ ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐที่มีราคาถูกและเป็นธรรมได้ ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นเพื่อการดำรงชีพให้ได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ารัฐวิสาหกิจถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ แต่ด้วยนักการเมืองที่ไม่มีความซื่อสัตย์ กระทำการทุจริตต่อแผ่นดิน ใช้นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจโอนทรัพย์สินของแผ่นดินไปให้กลุ่มทุนและใช้โอกาสในทุกขั้นตอนหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซง ทำให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งต้องประสบปัญหาวิกฤตไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่านได้ การจัดบริการสาธารณะด้านการขนส่งทางราง ถือเป็นภารกิจที่สำคัญด้วยที่ทั่งโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาในการขนส่งทางถนนที่ส่งผลกระทบต่อมลภาวะเป็นพิษ ปัญหาภาวะโลกร้อนจากการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงวิกฤติทางด้านพลังงานเชื้อเพลิง การขนส่งทางรางที่ขนส่งคนและสินค้าถือเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ รองรับประชาชนให้เข้าถึงด้วยราคาถูกและเป็นธรรม อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ทรงริเริ่มจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ได้ทรงสถาปนาไว้ เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน ต่อมาได้เพิ่มเติมภาระกิจการขนส่งทางรางระบบไฟฟ้าของ บริษัท ร.ฟ.ท. จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจเหล่านี้กำลังเผชิญกับการออกกฎหมายร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่อ้างถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดบริการขนส่งทางราง แต่ความเป็นจริงที่แอบแฝงกลับเป็นการผ่องถ่ายทรัพย์สิน ที่ดิน ภารกิจของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดไปบริหารจัดการเสียใหม่โดยกรมการขนส่งทางราง โอนทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้กรมการขนส่งทางรางนำที่ดินไปให้นายทุนเอกชนแสวงหากำไร และการรถไฟฯ ยังต้องเช่ารางของการรถไฟฯ เอง เพิ่มอำนาจฝ่ายการเมืองเข้ามาบริหารจัดการ ลดบทบาทภารกิจของรัฐวิสาหกิจเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดจากกรณีที่ดินรถไฟเขากระโดงจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ดินพระราชทานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ที่ถูกเอกชนและกลุ่มทุนทางการเมืองบุกรุก แม้มีคำพิพากษาศาลถึงที่สุดว่าเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคืนที่ดิน การจัดบริการสาธารณะด้านการขนส่งทางถนน ถือเป็นภารกิจแห่งรัฐในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทาง สำหรับการบริการสาธารณะให้กับประชาชนพื้นที่เมืองหลวงและปริมณฑล โดยรัฐได้กำหนดให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรับผิดชอบภารกิจนี้ แต่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ได้มีมติเห็นชอบให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ควบคุมดูแลเส้นทางเดินรถในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่งเท่านั้น ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 และให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการปฏิรูปเส้นทางใหม่ทั้งหมดในจำนวน 269 เส้นทาง ปัจจุบันพบว่าประชาชนยังสับสนการใช้เส้นทางใหม่และเผชิญกับค่าโดยสารที่สูงขึ้นแบบไม่มีทางเลือก ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนในเมืองหลวง ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ของรัฐให้กับเอกชนดำเนินการแทน สำหรับการขนส่งทางถนนระหว่างเมือง รัฐก็มอบหมายภารกิจให้กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด เพื่อให้จัดบริการสาธารณะให้กับประชาชน แต่พบว่าปัจจุบันรถที่ให้บริการไม่ได้มีการจัดซื้อใหม่มาทดแทนและมีความพยายามจะให้มีการเช่าทั้งที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด ก็มีความพร้อม ทั้งการเดินรถและศูนย์ซ่อมแบบครบวงจรอยู่แล้ว การจัดบริการสาธารณะด้านพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า ถือเป็นพลังงานที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมารัฐได้มอบภารกิจในการจัดบริการสาธารณะด้านการผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำหน้าที่สำคัญนี้ รวมถึงให้มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงบริการที่เป็นธรรม เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ใช้สำหรับจ่ายกระแสไฟต่อให้กับประชาชนในพื้นที่เมืองหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อจ่ายกระแสไฟต่อให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่าการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคงเหลือเพียงประมาณ ร้อยละ 28 และมีแนวโน้มลดลง โดยนโยบายรัฐที่ให้เอกชนได้ทำหน้าที่แทนรัฐในการผลิตไฟฟ้า เมื่อ กฟผ.ซื้อไฟฟ้าแพงจากนายทุนเอกชนมาจำหน่ายให้ กฟน. และ กฟภ. ไปจำหน่ายให้ประชาชนราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศเดือดร้อน รวมทั้งทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น ส่งผลโดยตรงที่ประชาชนต้องใช้สินค้าราคาสูงขึ้นด้วย จึงเป็นผลกระทบต่อการครองชีพของประชาชนทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเดือดร้อนในการดำรงชีวิต และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบค่าพร้อมจ่ายให้กับเอกชนตามข้ออ้างเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานจนมีหนี้สิน รวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็นภาระของประชาชนที่ต้องจ่าย รวมถึงประโยชน์ที่รัฐควรได้รับอย่างเต็มประสิทธิภาพ การจัดบริการสาธารณะด้านสุราสามทับ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์ เภสัชกรรม เวชภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นสารออกฤทธิ์ทางยาหรือส่วนผสมของยา ในอุตสาหกรรมอาหารและสมุนไพร เพื่อใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นสารสกัดหรือวัตถุแต่งกลิ่น ในอุตสาหกรรมทั่วไปเพื่อเป็นตัวทำละลายสกัด สารผสม รวมถึงสารทำความสะอาดและสารออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อเพื่อการสาธารณสุข ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน โดยรัฐกำหนดให้องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยผลิตและจำหน่ายในประเทศได้แห่งเดียวเท่านั้น และนำรายได้จากการจัดบริการสาธารณะส่งเป็นรายได้แผ่นดินกลับไปใช้เป็นงบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบันปรากฏว่า หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลองค์การสุรากลับมีนโยบายให้เอกชนสามารถ ผลิตและจำหน่ายในประเทศได้ โดยอาศัยช่องว่างในการผลิตและจำหน่าย “วัตถุเจือปนอาหาร” ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์และการขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบของหน่วยงาน ทั้งที่เอกชนต้องผลิตและจำหน่ายในต่างประเทศเท่านั้น ส่งผลให้องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ไม่สามารถนำส่งรายได้ให้รัฐได้และต้องเผชิญปัญหาการขาดทุน การจัดบริการสาธารณะด้านส่งเสริมกิจการโคนม ถือเป็นอาชีพพระราชทานที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้กับประชาชน และถือเป็นอาชีพแสดงถึงความรุ่งเรืองในความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ 2 ประเทศ คือ ไทยและเดนมาร์ก เพื่อให้คนไทยได้ดื่มนม ส่งเสริม สนับสนุน ให้เด็กไทยได้ดื่มนมโคเพื่อทำให้มีสุขภาพแข็งแรงดีขึ้น และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับภารกิจด้านการส่งเสริมกิจการโคนมของประเทศไทยและพัฒนากิจการด้านโคนมของประเทศให้รุ่งเรืองสืบไป พร้อมกันนี้ให้ใช้แบรนด์ไทย-เดนมาร์ก ที่มีสัญลักษณ์วัวแดง แสดงถึงความร่วมมือของ 2 ประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่า รัฐมีความพยายามจะอนุญาตให้นำเอาแบรนด์ไทย-เดนมาร์ก ที่มีสัญลักษณ์วัวแดง ให้เอกชนต่างชาติที่ผลิตนมผงนำไปใช้ รวมถึงความโปร่งใสของการบริหารจัดการภายในที่ส่งผลถึงสถานภาพของรัฐวิสาหกิจและประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง การจัดบริการสาธารณะด้านการบริการทางด่วน โดยมีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม รับภารกิจในการบริหารจัดการสาธารณะทางด่วนของประเทศเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นผลจากนโยบายการพัฒนาเมืองหลวงทำให้ประชาชนจากทั่วประเทศอพยพเข้ามาทำงานเพื่อแสวงหาความมั่นคงในเมืองหลวงแทน ซึ่งรัฐจะดำเนินการเองผ่านการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและให้เอกชนสัมปทาน เมื่อครบสัญญาจะเป็นหน้าที่ของการทางพิเศษฯ บริหารจัดการต่อ แต่ปัจจุบันพบว่า สัมปทานที่รัฐให้กับเอกชนส่วนใหญ่พอใกล้จะหมดสัญญาสัมปทานกลับมีการขยายสัญญาแทนการส่งต่อให้รัฐวิสาหกิจ รวมถึงมีการปรับเพิ่มค่าผ่านทางในอัตราที่สูงขึ้นตลอดการบริหารจัดการสัญญาสัมปทานจนส่งผลกระทบต่อประชาชน และยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กำหนดผลตอบแทนที่สูงรวมถึงจำนวนเงินลงทุนที่มาเกินความจำเป็น และการสร้างทางด่วนเพิ่มเติมใหม่ในเส้นทางเดิมแลกกับการขยายสัมปทาน จนส่งผลต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนที่ต้องใช้บริการทางด่วน และการนำส่งรายได้ให้รัฐในการนำไปพัฒนาประเทศ การจัดบริการสาธารณะด้านคลังสินค้าของรัฐ ดำเนินการจัดบริการสาธารณะด้านคลังสินค้าเกษตร การค้า และบริการสินค้าเกษตร รวมทั้งการให้บริการโลจิสติกส์และที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการบริหารจัดการงานนโยบายรัฐ เพื่อรักษาสมดุลทั้งปริมาณและราคาสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกครั้งที่รัฐบาลมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ องค์การคลังสินค้า สังกัดกระทรวงพาณิชย์ จะรับหน้าที่สำคัญในการจัดบริการสาธารณะด้านคลังสินค้าให้กับรัฐบาลเพื่อใช้เก็บสินค้าเกษตรไว้เพื่อรอราคา ซึ่งปัจจุบันพบว่า ภายในยังขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการอย่างเพียงพอจนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ ทั้งที่เป็นองค์กรของรัฐที่สนับสนุนภารกิจของรัฐในการดูแลแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน การจัดบริการสาธารณะด้านการยาสูบ มีการยาสูบแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่จัดบริการสาธารณะด้านการยาสูบของประเทศในการผลิตและจำหน่ายรวมถึงการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงควบคุมคุณภาพการผลิต ซึ่งยาสูบหรือบุหรี่ถือเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายสรรพสามิตเพื่อให้ประชาชนยกเว้นเยาวชนสามารถได้เข้าถึงได้แบบมีข้อจำกัด และเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนที่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบให้มีความมั่นคง รวมถึงเป็นหน่วยงานของรัฐที่นำส่งรายได้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่งแต่ปัจจุบันพบว่า ผลจากนโยบายของรัฐที่อ้างลดการผูกขาดด้วยการใช้มาตรการทางภาษีสรรพสามิตจนทำให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจนส่งกระทบความมั่นคงของอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบของไทยและการนำส่งรายได้ให้กับรัฐเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งบัญญัติหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 56 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดหรือ ดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อ การดำรงชีวิต ของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐฯ เป็นหลักการว่ารัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคสาธารณูปการและความมั่นคงของรัฐ รัฐจึงควรดำเนินการ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงและหลักธรรมาภิบาลเพื่อสืบทอดพระราชปณิธานของเสด็จพ่อ ร.๕ พระบิดาแห่งรัฐวิสาหกิจไทยที่ทรงสร้างไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ จะเห็นได้ว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศกำหนดภารกิจแห่งรัฐเอาไว้เพื่อที่จะร่วมกันปกป้องภารกิจการจัดบริการสาธารณะแห่งรัฐเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน จากบทเรียนที่ผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจหลายแห่งและสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมาก อาทิ ปตท. มีการแปลงสินทรัพย์เป็นหุ้น ๆ ละ 35 บาท และมีการขายหมด 800 ล้านหุ้น ภายในเวลาเพียง 77 วินาที เกือบทั้งหมด คือ พวกพ้องของนักการเมืองที่มีอำนาจรัฐในขณะนั้น แม้ว่ารัฐจะถือหุ้นเกิน 50% แต่เอกชนกลับเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมัน ก๊าซ และรายได้ 49% แทนที่จะส่งเข้ารัฐกลับส่งเป็นผลกำไรให้กลุ่มทุนทางการเมืองและทำให้ราคาพลังงานราคาน้ำมันแพงเพิ่มขึ้นประชาชนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าจนถึงปัจจุบัน การทุจริตในการแปรรูปองค์การโทรศัพท์ เป็นบริษัท ทีโอทีฯ ซึ่งมีการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต รัฐเสียหาย 66,000 ล้านบาท ผู้บริหารระดับสูงต้องติดคุกแต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ค่าเสียหายคืนแต่อย่างใด กรณีการบินไทย มีการพยายามแปรรูปและทุจริตจนสายการบินแห่งชาติล้มละลาย และโรงงานยาสูบที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ส่งเงินเข้าสูงสุดในสิบอันดับแรก นโยบายของรัฐได้ลดบทบาททั้งที่เคยส่งเงินเข้ารัฐถึง 9,000 ล้านบาท เหลือปัจจุบันเหลือเพียง 700 ล้านบาท สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงได้มีการประชุมร่วมกันขององค์กรสมาชิกและเห็นว่ารัฐวิสาหกิจมีความสำคัญต่อชีวิตประชาชนและให้ยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพราะประเทศชาติเสียหายประชาชนเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบและยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดังต่อไปนี้

                    1. ขอให้รัฐบาลยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และทบทวนภารกิจแห่งรัฐด้านการจัดบริการสาธารณะที่เอื้อประโยชน์เอกชนเพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้ทำหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะของประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชน

            2. ขอให้รัฐบาลหยุด ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่มุ่งทำลายกิจการ การรถไฟแห่งประเทศไทยและรัฐวิสาหกิจด้านการขนส่งทางรางแทนการพัฒนาการกำกับดูแลการขนส่งทางรางทั้งระบบ รวมถึงให้กระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบ ทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีกลุ่มนายทุนนักการเมืองครอบครองที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และชำระหนี้สินคงค้างจำนวน 288,000 ล้านบาท คืนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย

         3. ขอให้รัฐบาลบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมแก่ความจำเป็นในการใช้งาน เพื่อไม่เป็นภาระแก่ประชาชนรวมถึงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพลังงานได้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ รวมถึงดำเนินการศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าและสายส่งของรัฐ และรัฐต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 70 ของปริมาณแผนการใช้ไฟฟ้าของประเทศ การสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเพื่อทดแทน พร้อมทั้งการทบทวนหรือยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้าของเอกชนที่ไม่เป็นธรรม และการรับผิดชอบหนี้เงินกู้ที่มาจากค่าพร้อมจ่ายเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

              4. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 27 กันยายน 2559 เพื่อเป็นการยกเลิกการยึดสัมปทานเส้นทางเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยกรมการขนส่งทางบกเพื่อให้เอกชนมาเดินรถแทน จนประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารที่สูงขึ้นส่งผลผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน และให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดำเนินการบริหารจัดการเส้นทางเดินรถเพื่อบริการประชาชนกรุงเทพฯ และปริมณฑล

                5. ขอให้รัฐบาลได้พัฒนากิจการด้านการจัดบริการสาธารณะด้านสุราสามทับ (แอลกอฮอล์บริสุทธิ์) เพื่อให้องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ได้ผลิตและจำหน่ายสุราสามทับ (แอลกอฮอล์บริสุทธิ์) ภายในประเทศตามภารกิจแห่งรัฐตามกฎหมาย และให้มีการตรวจสอบมาตรฐานเอกชนที่ผลิตสุราสามทับในรูปแบบวัตถุเจือปนอาหารมาจำหน่ายแทนองค์การสุราและได้สิทธิเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละศูนย์ เพื่อให้รักษาผลประโยชน์นำรายได้ส่งรัฐในการบริหารจัดการด้านสุราสามทับของประเทศ รวมถึงร่วมกันพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการภารกิจสาธารณะด้านสุราสามทับของรัฐเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

                 6. ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการภารกิจสาธารณะด้านการส่งเสริมกิจการโคนมขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย คำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเชื่อมโยงสู่สถาบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมถึงการบริหารจัดการภายในที่โปร่งใสยึดหลักธรรมาบาล และต้องไม่นำสัญลักษณ์แบรนด์โคมนมไทย-เดนมาร์ก ไปให้เอกชนต่างชาติหาประโยชน์ เพื่อรัฐบาลจะได้สานต่อพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9

                   7. ขอให้รัฐบาลหยุดขยายสัมปทานทางด่วนกับเอกชน และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกของรัฐดำเนินการ รวมถึงการทบทวนการแก้ไขสัญญาเพื่อการขยายสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช)

                    8. ขอให้รัฐบาลหยุดนโยบายการให้เอกชนสัมปทานหรือร่วมทุนเอกชน (PPP) ในโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย และให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ (บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย) เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินการเอง เพื่อประสิทธิภาพการจัดบริการสาธารณะด้านขนส่งทางรางระบบไฟฟ้าของประเทศ

        9. ขอให้รัฐบาลทบทวนการสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ครบวงจรที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการสาธารณะด้านการขนถ่ายสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ถือเป็นการดำเนินการของรัฐบาลที่ขัดกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

           10. ขอให้รัฐบาลตรวจสอบและปรับปรุงการบริหารจัดการองค์การคลังสินค้าให้มีความโปร่งใสป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน จนส่งผลกระทบต่อภารกิจในการจัดบริการสาธารณะด้านการคลังสินค้าของประเทศ

              11. ขอให้รัฐทบทวนการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบให้กับการยาสูบแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการนำรายได้ส่งรัฐของการยาสูบแห่งประเทศไทย รวมถึงการพัฒนากิจการบริการสาธารณะด้านยาสูบของรัฐและการส่งเสริมอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบของไทย

                       12. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 28 กรกฎาคม 2541 ที่กำหนดให้รับพนักงานรัฐวิสาหกิจได้ในอัตราร้อยละ ๕ ของจำนวนผู้เกษียณอายุ เพื่อเพิ่มจำนวนพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับภารกิจการจัดบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในภาพรวมของรัฐวิสาหกิจ

                 13. ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ยกเลิกการเสนอผู้บริหารแผนจากภาครัฐเข้ามาเพิ่มในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ

                     14. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดหารถโดยสารใหม่ให้กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด เพื่อทดแทนรถเก่าและเพื่อให้การจัดบริการสาธารณะด้านการขนส่งประชาชนของรัฐมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย

                     15. ขอให้รัฐบาลคงสถานะรัฐวิสาหกิจขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เอาไว้ เพื่อประโยชน์ในการจัดบริการสาธารณะของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ด้านการศึกษาของประเทศเพื่อชาติและประชาชน

               16. ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันแพง ก๊าซ ค่าไฟฟ้า ไม่ให้มีราคาแพงจนเกินความจำเป็นจนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ รวมถึงการนำเอา ปตท.กลับมาเป็นกิจการของรัฐอย่างแท้จริง เพื่อให้บริการจัดการสาธารณะด้านการน้ำมันและก๊าซของประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชน และสนับสนุนการปรับปรุงกฎหมายการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของเพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันที่เป็นธรรมทั้งระบบ

          สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนถือว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยให้มาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการประเทศ บริหารจัดการผลประโยชน์สาธารณะของรัฐเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม จะร่วมกันยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นเป็นกลไกของรัฐในการจัดบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชนและร่วมกันสืบทอดพระราชปณิธานของเสด็จพ่อ ร.๕ พระบิดาแห่งรัฐวิสาหกิจไทยที่ทรงสร้างไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ รัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติของชาติและประชาชน

By admin