1 พฤษภาคม 2567 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย นำโดย นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สร.รฟท.เข้าร่วมงานวันกรรมกรสากล จัดโดย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมกับ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการจัดงาน มีองค์กรสมาชิกเข้าร่วมงานอย่างคับคั้ง ภายใต้คำขวัญ “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน ขบวนเดินรณรงค์เริ่มจาก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล บรรยากาศในปีนี้มีอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าวมาก แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับกรรมกรผู้เข้าร่วมงานกิจกรรมในงานมีการขึ้นเวทีปราศรัยของผู้นำแรงงานแต่ละองค์กรเพื่อสะท้อนปัญหาแต่ละองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลภายใต้ระบบทุนนิยม ตลอดถึงการปราศรัยให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานและประชาชนที่สัญจรไปมาให้ทราบถึงความเป็นมาของวันกรรมกรสากล มีการแสดงการล้อเลียนเสียดสีการเมือง และยื่นข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาลโดยมีผู้แทนรัฐบาลมารับข้อเรียกร้อง

             ข้อเสนอวันกรรมกรสากล ปี ๒๕๖๗เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนี้

              1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

                       1.1 รัฐต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ

                       1.2 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมทั้งแรงงานภาคเอกชน และการจ้างงานในภาครัฐ

                      1.3 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี เพื่ออนาคตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

                      1.4 รัฐต้องปรับเงินเดือนและบัญชีโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจตามข้อเสนอของ สรส.

                2. รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชนลง เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง

                      2.1 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม

                      2.2 ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ พร้อมกับการปรับโครงสร้างการกำหนดราคาใหม่ เลิกเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนทั้งระบบภาษี และ เก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายราคาต่อลิตรสูงมาก

                      2.3 ลดราคาค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต รัฐต้องไม่ปล่อยให้กิจการเหล่านี้ตกไปอยู่ในการบริหารจัดการของกลุ่มทุนเอกชน เพราะเป็นความสำคัญและจำเป็นของประชาชนในการ ดำรงชีพ

                      2.4 ลดราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จากการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่ผิดพลาด ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน ถึงแม้ไม่ผลิตไฟฟ้าแต่ประชาชนจะต้องจ่าย ที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” ทำให้ประชาชนทุกคน ทุกครัวเรือน สถานประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และควรจัดวางระบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ เลิกสัญญาทาส ที่รัฐทำกับกลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กฟผ./กฟภ./กฟน. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๗๐ เพื่อความมั่นคงเรื่องพลังงานไฟฟ้า

                  ๓. รัฐบาลต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) พ.ศ. ….

 

             ข้อเสนอที่ติดตามจากปีก่อน ๆ

                 1. รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

                             1.1. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการยกเลิกการออก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ยกเลิกการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ให้มีการตรวจสอบโครงต่าง ๆ ทั้งเรื่องมาตรฐาน และราคา ที่เป็นธรรมต่อประชาชน ให้มีความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริต

                              1.2. ให้จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อปรับปรุงพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ เป็นเครื่องมือของรัฐในการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน

                               1.3. ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ

                  2. รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางภาษี โดยเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้าอย่างจริงจัง การจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้น ในอัตราที่ไม่น้อยจนเกินไป ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณแผ่นดิน ในการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคนทุกมิติ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน และขอให้รัฐบาล กระทรวงพลังงาน ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ให้มีความเหมาะสม ไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อน และ ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

                 3. รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม ดังต่อไปนี้

                         3.1 รัฐต้องตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมให้กับผู้ประกันตน ตามสัดส่วนผู้ประกันตนแต่ละพื้นที่ พร้อมกับผลิตแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านอื่น ๆ ของสำนักงานประกันสังคมเอง

                         3.2 สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน (ธนาคารแรงงาน)

                          3.3 ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

                          3.4 การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน รวมถึงให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยส่วนที่ค้างให้ครบ

                         3.5 ให้ผู้ประกันตน มาตรา ๓๓ , ๓๙ , ๔๐ ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

                         3.6 เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้รับเงินชราภาพเป็น อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนสุดท้าย

                         3.7 ขยายกรอบเวลาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

               4. รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

                         4.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

                         4.2 ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ ทั้งในระบบและการศึกษาทางเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

                 5. รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

                         5.1 ฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน

                         5.2 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

                         5.3 ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ. 1981 (พ.ศ.๒๕๒๔)

                          5.4ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดากำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100%

                          5.5 ฉบับที่ ๑๘๙ ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนทำงานบ้าน

                          5.6 ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกของการทำงาน

                  6. ให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33

                  7. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว

                  8. รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ

                  9. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือ การยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

                10. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกัน ในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือ รัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย

               11. รัฐต้องพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานอย่างจริงจัง และต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงาน ทุกภาคส่วน และ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

               12. รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางาน เหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน

                13. ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

                        13.1 รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะและไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติใดชาติหนึ่งเพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรคและเยียวยาต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ

                        13.2 รัฐบาลต้องให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิเงินกองทุนทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ว่ากรณีใด

                       13.3 ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำเอกสารขึ้นทะเบียนรอบใหม่ และให้มีการคุ้มครองกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลนั้น จะได้รับการตอบสนองเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เป็นผลในทางปฏิบัติเพื่อให้กรรมกร ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ได้มีความมั่นคง มีความปลอดภัย ในการทำงาน ได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ มีหลักประกันทางสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน อย่างแท้จริงต่อไป

              ประวัติวันกรรมกรสากล

                        นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคแรก ค.ศ.1760 (พ.ศ.2303) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการผลิต การทำงาน และวิถีชีวิตของคนงานครั้งยิ่งใหญ่ ในขณะที่คนงานต้องประสบกับการกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในเรื่องค่าจ้างที่ต่ำ สภาพการทำงานที่เลวร้าย ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงจนคนงานไม่สามารถทนอยู่สภาพที่เลวร้ายนั้นได้ คนงานทั้งโลกได้สำแดงพลังครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 (พ.ศ.2429) เพื่อเรียกร้องให้ได้มา “ระบบสามแปด” คือ “ทำงานแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง ศึกษาหาความรู้แปดชั่วโมง” การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้นในประเทศต่าง ๆ เกิดการเดินขบวน ชุมนุมประท้วง และนัดหยุดงานลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งโลก การต่อสู้ของกรรมกรล่วงเลยถึงปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) จึงประสบชัยชนะ แต่กรรมกรต้องสังเวยชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
                ต่อมาในคราวการประชุมสมัชชาสังคมนิยมสากลที่สองมีมติกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันกรรมกรสากล” โดยเริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) เป็นต้นมาต่อมาภายหลังสหประชาชาตินำเอาผลจากการต่อสู้ของกรรมกรสากลมาบัญญัติไว้ใน “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” รวมทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศก็ได้บัญญัติหลักประกันของระบบ “สามแปด” รวมทั้งสิทธิ เสรีภาพด้านต่าง ๆ และในทุก ๆ ปีกรรมกรทั่วทั้งโลกต่างออกมาชุมนุม เดินขบวน เฉลิมฉลอง พร้อมกับยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศรณรงค์สะท้อนปัญหาของคนงานให้สังคมได้รับรู้ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรม
ที่กล้าหาญ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละของกรรมกรในยุคนั้น
                            ประเทศไทยกรรมกรก็ได้กระทำเช่นเดียวกับกรรมกรทั่วทั้งโลก แต่ต่อมา “วันกรรมกรสากล”ถูกชนชั้นปกครองตัดตอนประวัติศาสตร์ความเชื่อมโยงกับสากล โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ”
ทำให้ความแหลมคม จุดยืน อุดมการณ์เลือนหายไปเพราะการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติถูกชี้นำกำกับโดยรัฐบาลด้วยการสนับสนุนงบประมาณ ไม่ยืนอยู่บนหลักการอิสระ พึ่งตนเอง ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลงเป็นลำดับ “ด้วยการแบ่งแยก ตีให้แตก แยกทำลาย” แต่ที่สุดแล้วก็ไม่อาจทำลายความเป็นพี่น้อง ความเป็นมิตรสหายของกรรมกรได้ เพราะยังมีกรรมกรส่วนที่ก้าวหน้า ยังมีความเชื่อมั่นว่า “กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน” กรรมกรต้องเชื่อมั่นในพลังของตนเองไม่ยอมตกเป็นทาสของนายทุนและชนชั้นปกครอง หากเราแบ่งแยก แตกความสามัคคี อ่อนแอ ตกเป็นเครื่องมือของนายทุนและชนชั้นปกครองเมื่อใดแล้ว ความหวังว่าจะมีอนาคตและชีวิตที่ดีนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยวันกรรมกรสากลใน ปี 2024 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยังคงจัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ “วันกรรมกรสากล” ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้นเช่นทุกปี โดยเฉพาะปัจจุบันภาวะการกดขี่ขูดรีดที่รุนแรง หนักหน่วงสลับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม ภายใต้กลไกและการทำงานของระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ในยุคสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคที่ 4 (4.0) การคิดค้นเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้เข้ามาใช้ในระบบการผลิตแทนที่แรงงานมนุษย์ ทั้งภาคการผลิต การบริการ การสื่อสาร การเกษตร และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและความสัมพันธ์ทางผลิตครั้งใหญ่เช่นกัน แม้จะมีส่วนที่ดีในแง่ของความรวดเร็ว แม่นยำ และสร้างผลกำไรให้นายทุน แต่ในทางกลับกันก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างรุนแรง ทั้งการตกงาน ว่างงาน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การผูกขาด ภาคการผลิตรายย่อยที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีต้องปิดตนเอง ล่มสลายไป ความมั่งคั่งจะตกอยู่ในอาณาจักรของนายทุนเพียงไม่กี่คน และที่สุดแล้วการแย่งชิงทรัพยากร การปกป้องชีวิต จะก่อให้เกิดการเผชิญหน้า ความรุนแรงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงก็จะตามมา ที่สำคัญประเทศไทยก็ไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้คิดค้นเทคโนโลยี ทุกสิ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพาจากต่างประเทศเป็นด้านหลัก ทิศทางหลักของประเทศจะมุ่งไปในทิศทางใด ในสถานการณ์เช่นนี้ชนชั้นแรงงาน ผู้ยากไร้ ดำเนินชีวิตอย่างลำบากมากยิ่งขึ้น ในขณะที่นายทุน นักธุรกิจทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติได้รับการสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาจากรัฐบาลต่างร่ำรวย มั่งคั่งขึ้นอย่างมหาศาล ประเทศไทยกำลังก้าวเดินสู่กับดัก ประชาชนกำลังตกอยู่ในหุบเหวหายนะที่ผู้นำประเทศ ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเองอย่างน่าวิตกกังวล
                           ในสภาพความเป็นจริงปัจจุบันชีวิตของคนทำงานทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการล้วนตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากในการใช้ชีวิต โภคทรัพย์ของสังคมดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ อาหาร ทั้งใต้ผืนดิน บนดิน ท้องฟ้า อากาศ อวกาศ สายลม แสงแดด พลังงาน น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้าการขนส่ง การสื่อสารโทรคมนาคม ล้วนถูกครอบครอง ผูกขาดโดยกลุ่มทุนสามานย์ที่ได้รับการเกื้อหนุนจากผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งก็คือตัวแทนชนชั้นนายทุน กี่รัฐบาล กี่พรรคการเมือง กี่รัฐประหาร ผู้มีอำนาจที่ก้าวมาบริหารประเทศก็กระทำในลักษณะเดียวกัน คือ กอบโกย โกงกินกันทุกวงการ ทั้งเอกชน หน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายก็เลือกใช้กับคนยากจน ในขณะที่ผู้มีอำนาจที่ทุจริต เซาะกร่อนบ่อนทำลายประเทศชาติ กลับลอยหน้าเอามาลงโทษไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมพังพินาศ หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ
ไม่หลงเหลือ ประเทศชาติขาดความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติ พร้อมกับการทำลายขบวนการแรงงาน ขบวนการภาคประชาชน ที่ไปขัดขวางความร่ำรวย สิ่งที่สัญญากับประชาชนว่า จะทำให้ประชาชนอยู่ดี มีสุข
มีความมั่นคง ก้าวหน้า ยั่งยืน ในความเป็นจริงพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ประชาชนต่างทราบดีว่าเป็นแค่วาทกรรมและลมปากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ประชาชน ประจักษ์
ชัดแล้วว่าพรรคการเมืองทั้งหลายที่ประชาชนเลือกล้วนเป็นพรรคการเมืองของชนชั้นนายทุน ขุนศึก ผ่านพ้นฤดูกาลเลือกตั้งที่ใช้เงินลงทุนกันอย่างมหาศาลไปแล้ว ที่สุดแล้วเมื่อนักการเมือง พรรคการเมืองเหล่านั้น เมื่อเขาลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เขาก็จะถอนทุนคืนด้วยการทุจริต ชีวิตพี่น้องประชาชนก็อยู่ในวังวน “วงจรอุบาทว์” ไม่ได้สนใจแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนอย่างแท้จริง เวลายาวนานเพียงพอแล้วที่ประชาชนเลือกพรรคและนักการเมืองแบบเดิม ชีวิตพี่น้องลำบากยิ่งกว่าเก่า โภคทรัพย์ของสังคม ทั้งที่ดิน ทรัพยากรทั้งใต้ผืนดิน บนดิน บนอากาศ ในอวกาศ ล้วนตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่ตระกูล พี่น้องผู้ใช้แรงงาน
และประชาชน ดิ้นรนมีชีวิตอยู่เพียงแค่เป็นเครื่องมือสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้แก่นายทุนเท่านั้น ขอพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ประชาชน จงตระหนัก และไตร่ตรองดูเถิด แล้วมองไปอนาคตว่า เราจะสร้างชีวิต สร้างสังคมที่ดีได้ด้วยพลังของพวกเราพี่น้องชนชั้นผู้ใช้แรงงานและประชาชนผู้ยากไร้ได้อย่างไร

                                                                             “ขอกรรมกรจงสามัคคีกัน ต่อสู้ปลดปล่อยตนเอง มุ่งมั่นสู่ชัยชนะและสังคมที่เราคาดหวัง

ดาวน์โหลดหนังสือข้อเรียกร้องยื่นนายกรัฐมนตรี MAYDAY 2024 ได้ที่นี่

@รายงานโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ สร.รฟท.@

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *