เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายอาคม อุปแก้ว รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ และดำเนินการโดยมิชอบของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (การรถไฟฯ) และ คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการการรถไฟฯ ในการดำเนินการสรรหาและมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือก เพื่อแต่งตั้ง นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ว่าการรถไฟฯคนใหม่ เนื่องจากมีปัญหาด้านคุณสมบัติที่ขัดกับประกาศ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายหลายฉบับ 

                   เครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ กระทุ้ง ป.ป.ช. สอบกราวรูด บอร์ดรถไฟ-กก.สรรหา ดึงดันตั้ง”วีริศ อัมระปาล”ผู้ว่าการนิคมฯ ตามใบสั่งการเมือง ทั้งที่ขาดคุณสมบัติ ส่อประโยชน์ขัดแย้ง หลายฝ่ายทักท้วง แต่ยังทำเป็นหูทวนลม เดินหน้าร้องเอาผิดพร้อมยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน-สคร. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายอาคม อุปแก้ว รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ และดำเนินการโดยมิชอบของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (การรถไฟฯ) และ คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการการรถไฟฯ ในการดำเนินการสรรหาและมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้ง นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ว่าการรถไฟฯคนใหม่ เนื่องจากมีปัญหาด้านคุณสมบัติที่ขัดกับประกาศ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายหลายฉบับ ทั้งประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ ลงวันที่ 29 เมษายน 2567 ข้อ 3.1.11 คุณสมบัติของผู้สมัครที่กำหนดไว้ต้องไม่เป็นหรือไม่เคยเป็นกรรมการ หรือผู้บริหาร ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของการรถไฟ ฯ เว้นแต่การเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในนิติบุคคลดังกล่าวโดยการมอบหมายของการรถไฟฯ ทั้งยังมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทยที่กำหนดผู้ที่มีส่วนได้เสียในสัญญากับการรถไฟฯ หรือในกิจการที่กระทำให้แก่การรถไฟฯ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม นอกจากนี้ ยังขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 ตรี และมาตรา 32 ของกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในมาตรา 8 ตรี กำหนดไว้ผู้บริหารนอกจากต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม (12) ไมเป็น หรือภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันได้รับแต่งตั้ง ไม่เคยเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เว้นแต่การเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในนิติบุคคลดังกล่าวโดยการมอบหมายของรัฐวิสาหกิจนั้น ขณะที่มาตรา 32 กำหนดไว้ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ว่าการ (1) ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของการรถไฟฯ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นผู้ถือหุ้น หรือกรรมการของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน ที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของการรถไฟฯ ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น หรือมีส่วนได้เสียในสัญญากับการรถไฟฯ หรือในกิจการที่กระทำให้แก่การรถไฟ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ทั้งนี้ ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชนหลายฉบับที่มีการนำเสนออย่างต่อเนื่องพบว่า นายวีริศ อัมระปาล ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะเวลาเช่า 30 ปี จากวันที่ 15 ต.ค. 2565 ถึงวันที่ 1 ต.ค. 2595 ถือว่ามีส่วนได้เสียในสัญญากับการรถไฟฯอัน “เข้าข่าย” ขัดคุณสมบัติหรือเป็นลักษณะต้องห้ามชัดแจ้ง แต่คณะกรรมการสรรหาฯก็มิได้นำพาต่อปัญหาคุณสมบัติ และยังคงดำเนินการประกาศให้เป็นผู้ได้รับการสรรหาต่อไป ที่สำคัญกรณีที่ผู้สมัครเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ หรือไม่นั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เคยมีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างถึงแนวทางวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาลงวันที่ 28 ม.ค.2552 ที่อ้างอิงกรณีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งผู้สมัครเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. ซึ่งในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง มีการทำสัญญาเช่ารถตู้โดยสารยูโรทูกับ ทอท.เพื่อเป็นรถเวียนในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงเป็นกรณีที่ ขสมก.มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการหลัก ทอท. ทำให้ตกคุณสมบัติสมัครเข้าคัดเลือกไปเพราะมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 ตรี (12) แห่ง พรบ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” “เมื่อนายวีริศ ในฐานะผู้ว่าการการนิคมฯ (กนอ.)ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงถือได้ว่า มีส่วนได้เสียในสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าข่ายขัดคุณสมบัติหรือเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ อย่างชัดแจ้ง ดังนั้น หากยังปล่อยให้มีการสรรหาที่มิชอบนี้ต่อไป ย่อมจะสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรการรถไฟฯ รวมทั้ง ครม.ที่มีส่วนในการเห็นชอบในท้ายที่สุดด้วย ทางเครือข่ายสื่อมวลชนต่อตจ้านคอร์รัปชั่นจึงขอให้คณะกรรมการป.ป.ช.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการไต่สวนเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายในครั้งนี้” นอกจากย่ื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว เครือข่ายสื่อฯ ยังจะยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ รวมทั้งยังจะยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจการแผ่นดินด้วย.