ตามที่กรรมการเลขานุการคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟฯได้มีหนังสือที่ รฟ.บค.1000/1012/2566 ลงวันที่ 16 ส.ค.66 ขอเชิญคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ฯทั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เข้าประชุมคณะกิจการสัมพันธ์ฯ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ ชั้น 3 การรถไฟฯ โดยมีกรรมการผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียง โดยมีระเบียบวาระการประชุมและผลสรุปอย่างไม่เป็นทางการสรุปได้ดังนี้
การประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ มีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟ
เรื่องประธานแจ้งให้ทราบ
๑. เรื่องแนวทางป้องกันอุบัติเหตุถนนตัดถนนระดับทาง ฝากทางฝ่ายสื่อสารฯดูแลเครื่องกั้นถนนให้ดี
๒.เรื่องรถจักรชำรุด ฝากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันกระตุ้น สร้างจิตสำนึกการในการให้บริการกับประชาชน
๓.ประธานฯได้มอบให้หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการรายงานผลดำเนินการตามแนวนโยบาย ผวก.ดังนี้
-เรื่องการดำเนินการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงาน ให้ทุกฝ่ายดูในเรื่องคุณสมบัติ การปฏิบัติหน้าที่ที่ดี ปัจจุบันดำเนินการเร่งรัดประมาณ ๘๐ คำสั่ง การแต่งตั้งจะดำเนินการประมาณ ๕ วัน
-เรื่องการจอดรถและการจัดระเบียบการจัดการอนุญาตให้ยานพาหนะเข้า – ออก ในบริเวณพื้นที่ทำการส่วนกลางของการรถไฟฯ สามารถแก้ปัญหาการจอดรถที่เข้ามาจอดได้ประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์
-เรื่องการปรับปรุงและการบริหารจัดการสโมสรรถไฟฯเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับผู้ปฏิบัติงาน -เรื่องการบริหารจัดการบ้านพักรถไฟ กม.๑๑ และพื้นที่โดยรอบ เพื่อเป็นการจัดระเบียบ และการพักอาศัยที่ดีขึ้นของพนักงาน
-เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง การระบายน้ำในพื้นที่ กม.11 รฟท. ประสานงานกับ กทม. โดย ผวก. มอบฝ่ายการช่างโยธา ร่วมกับ กทม.กำจัดวัชพืช ขยะอุดตัน คู คลอง รางน้ำ ในนิคมรถไฟ กม.๑๑
เรื่องติดตามผลการดำเนินงาน
๑. เรื่องการกำหนดระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ
ความคืบหน้า: กองวินัยและสอบสวน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ได้ประสานไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อขอทราบผลการพิจารณาหนังสือหารือ ตามบทนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ “ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ หมายรวมถึงลูกจ้างเฉพาะงานของการรถไฟฯหรือไม่ ซึ่งกรมบัญชีกลางจะมีหนังสือตอบข้อหารือมายังการรถไฟฯ ระหว่างรอหนังสือคณะทำงานได้มีการประชุมยกร่างระเบียบ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการวินิจฉัยความรับผิดทางละเมิด แนวทางการพิจารณาค่าเสียหาย การขอลดหย่อน และการผ่อนชำระ ซึ่งคณะทำงานจะมีการประชุมอีกครั้งแล้วเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสัมพันธ์เพื่อพิจารณาในครั้งต่อไป
๒. เรื่องหนังสือร้องทุกข์ของนายวิทยา ชวนชม ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งเลื่อนระดับผู้ช่วยสารวัตรของฝ่ายช่างกล
ความคืบหน้า:คณะทำงานได้พิจารณา กระบวนการกลั่นกรอง แต่งตั้งเลื่อนระดับผู้ช่วยสารวัตร (พนักงานเทคนิค ๗ ) ของฝ่ายช่างกล เห็นว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว และ ผู้แทน สร.รฟท.เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความไม่ชัดเจนในการกำหนดแนวทางในการพิจารณาทั้งในส่วนของด้านลากเลื่อน และด้านโรงงาน ควรกำหนดให้แยกคุณสมบัติ กระบวนการแต่งตั้งเลื่อนระดับผู้ช่วยสารวัตร (พนักงานเทคนิค ๗ ) และผู้ช่วยสารวัตร (ด้านโรงงาน) ออกคนละส่วนกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรอง และมอบให้ วญก.ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายวิทยา ชวนชม และแจ้งให้ที่ประชุมทราบครั้งต่อไป ๓.เรื่องการแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังของการรถไฟฯเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่และการเปิดเดินขบวนรถ ความคืบหน้า ฝ่ายทรัพยากรบุคคลแจ้งความคืบหน้า อยู่ระหว่างจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมเรื่ององค์ประกอบคณะทำงาน อำนาจหน้าที่ ในการจัดทำแผนการปรับเพิ่มอัตรากำลังพนักงาน โดยที่ประชุมเสนอให้มีการเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดกรอบระยะเวลา(Timeline) ในการดำเนินการแล้วเสร็จ รวมทั้งประเด็นในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิบัติงานของแต่ละฝ่าย เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ครั้งต่อไป
๔.เรื่องการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนของลูกจ้างเฉพาะงานตามข้อตกลงสภาพการจ้าง เมื่อ ๓ เมษายน ๒๕๔๐
ความคืบหน้า คณะทำงาน (บค./สร.รฟท.) ได้แจ้งที่ประชุมทราบผลการประชุมแนวทางดำเนินการโดยมี 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 ระยะแรกเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างของลูกจ้างเฉพาะงานฯ โดยแก้ระเบียบการรถไฟฯฉบับที่ ๑.๒ ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นอัตราร้อยละ โดยกำหนดระยะเวลาการทำงาน และการประเมินผล ซึ่งอยู่ในอำนาจของการรถไฟฯ แนวทางที่ 2 เนื่องจากโครงสร้างเงินเดือนของลูกจ้างเฉพาะงาน เป็นสภาพการจ้างใหม่ และเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน จะต้องเสนอขอความเห็นชอบคณะกรรมการแรงงานรัฐ และ คณะรัฐมนตรีก่อน จึงต้องมีการทำค่างานของพนักงานและลูกจ้างของการรถไฟฯให้เรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการจัดทำเป็นโครงสร้างเงินเดือน เสนอต่อคณะกรรมกรรมการกิจการสัมพันธ์เห็นชอบและเสนอตามขั้นตอนต่อไป ที่ประชุมมอบให้คณะทำงานดำเนินการตามแนวทางปรับขึ้นค่าจ้างของลูกจ้างเฉพาะงานฯ โดยแก้ระเบียบการรถไฟฯฉบับที่ ๑.๒ ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นอัตราร้อยละ แล้วเสนอที่ประชุมคณะกรรมกรรมการกิจการสัมพันธ์ในครั้งต่อไป
๕. พิจารณาปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงานการรถไฟฯ ให้สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๑ )
ความคืบหน้า คณะทำงานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ได้มีการประชุมคณะทำงานสรุปแนวทางปรับปรุงข้อบังคับที่ ๔.๑ อัตราเงินเดือนของพนักงานของการรถไฟฯ พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยในส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนภายในการรถไฟฯคงให้ชะลอไว้ก่อน เนื่องจากเป็นไปตามเงื่อนไขตามมติ ครม. 7 เม.ย.2547 ที่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบโดยต้องทำพร้อมกันทุกรัฐวิสาหกิจ ทาง สร.รฟท.รับไปดำเนินการผ่านสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ส่วนในเรื่องที่อยู่ในอำนาจของการรถไฟฯ(คกร.)ที่สามารถดำเนินการได้ คือปรับปรุงข้อบังคับการรถไฟฯฉบับที่ ๔.๓ วิทยฐานะและอัตราเงินเดือนสำหรับบุคคลใหม่เข้าทำงานเป็นพนักงานของการรถไฟฯ ให้ได้รับค่าจ้างแรกบรรจุไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยการรถไฟฯยกร่างเพื่อเสนอขออนุมัติคณะกรรมการรถไฟฯ ที่ประชุมเห็นชอบตามคณะทำงานเสนอ และมอบให้คณะทำงานเสนอ ดำเนินการปรับปรุงร่างข้อบังคับการรถไฟฯฉบับที่ ๔.๓ วิทยฐานะและอัตราเงินเดือนสำหรับบุคคลใหม่เข้าทำงานเป็นพนักงานของการรถไฟฯ ให้ได้รับค่าจ้างแรกบรรจุไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แล้วเสนอที่ประชุมคณะกรรมกรรมการกิจการสัมพันธ์ในครั้งต่อไป
๖. เรื่องการปรับปรุง แก้ไขเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ทำการนอกเขต หรือสถานี ทำการเดินรถ รอทำขบวน และเช่าที่พัก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ
ความคืบหน้า คณะทำงานตามคำสั่ง บภบ.ที่ ๒๗/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖ พิจารณาโครงสร้างเงินเดือนพนักงานการรถไฟฯและอัตราเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนต่างๆ ในการปฏิบัติงาน ซึ่งคณะทำงานได้ประชุมและกำหนดแนวทางการพิจารณา เป็น ๓ แนวทาง ๑.ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ(ร้อยละ 10.36) ๒.การปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนค่าจ้างขั้นต่ำ(ร้อยละ 18) ๓.ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ +สัดส่วนค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานมีความเห็นร่วมกันตามแนวทางที่ ๒.คือการปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนค่าจ้างขั้นต่ำ(ร้อยละ 18) และเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์พิจารณา มติที่ประชุม เห็นชอบตามที่เสนอ และมอบคณะทำงานไปทำรายละเอียดเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในครั้งต่อไป ก่อนเสนอคณะกรรมการรถไฟเห็นชอบ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องเพื่อพิจารณา
๔.๑ เรื่องพิจารณาตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยระบบการเบิกจ่ายตรง ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
ตามที่ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสพอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ข้อ 14 ได้กำหนดไว้ว่า “การเบิกค่ารักษาพยาบาล ลูกจ้างอาจนำหลักฐานการรับเงินที่สถานพยาบาลซึ่งตนเอง คู๋สมรส หรือบุตร เข้ารับการรักษาออกให้ มายื่นต่อนายจ้าง หรืออาจให้สถานพยาบาลนั้น เบิกค่ารักษาพยาบาลโดยระบบการเบิกจ่ายตรงแทนตนก็ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด” จึงเห็นควรปรับปรุงแก้ไขแนวทางการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟฯเสียใหม่ ให้เป็นไปตามประกาศ ครรส. ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการทำงานภายในของการรถไฟฯ ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเอกสาร และระยะเวลาในการผ่านจ่าย รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจ และลดค่าครองชีพให้กับผู้ปฏิบัติงาน ไม่ต้องสำรองเงินสำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาล จึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการทำงานภายในของการรถไฟฯ ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเอกสาร และระยะเวลาในการผ่านจ่าย รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจ และลดค่าครองชีพให้กับผู้ปฏิบัติงาน ไม่ต้องสำรองเงินสำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาล มอบให้การรถไฟฯรับไปดำเนินการ
๔.๒ เรื่องพิจารณาปรับปรุงค่าห้อง และค่าอาหารตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๕
ปัจจุบันมีการปรับอัตราค่าห้อง และค่าอาหารในสถานพยาบาล ซึ่ง ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๕ เห็นชอบปรับปรุงค่าห้อง และค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล สำหรับลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินวันละ ๑,๕๐๐ บาทและสำหรับบุคคลในครอบครัว เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวันละ ๑,๑๐๐ บาท ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๕ จึงเห็นควรปรับปรุงค่าห้อง และค่าอาหาร ให้กับผู้ปฏิบัติงานเสียใหม่ มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการ ปรับอัตราค่าห้อง และค่าอาหารในสถานพยาบาล ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๕ ผู้ปฏิบัติงานจากเดิม ๑,๒๐๐ บาท ปรับเป็น ๑,๕๐๐ บาท สำหรับบุคคลในครอบครัวจากเดิม ๘๐๐ บาทปรับเป็น ๑,๑๐๐ บาท มอบให้การรถไฟฯรับไปดำเนินการทำข้อมูล และเสนอคณะกรรมการรถไฟฯเห็นชอบต่อไป
เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
๑.เรื่องการปูนบำเหน็จประจำปี ๒๕๖๗ ผู้แทน สร.รฟท. เสนอที่ประชุมให้การรถไฟฯดำเนินการเร่งรัดฝ่าย/สำนักงานต่างๆ ให้ดำเนินการพิจารณาปูนบำเหน็จประจำปี ๒๕๖๗ ให้เป็นไปตามระเบียบคำสั่งของการรถไฟฯ และให้พนักงานได้รับเงินเดือนใหม่ ภายในเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ มติที่ประชุม ประธาน (ผวก.)ได้มอบให้ หวก.ออกหนังสือสั่งการกำชับให้เร่งรัดฝ่ายต่างๆดำเนินการปูนบำเหน็จประจำปี ๒๕๖๗ ตามระเบียบคำสั่งของการรถไฟฯ และให้ได้รับเงินเดือนใหม่ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ นี้
สร.รฟท.และกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ตลอดถึงสมาชิกของ สร.รฟท.ต้องขอขอบคุณนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯประธานที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิประโยชน์และสภาพการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วม รวมถึงการสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี